วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทบาทสารสนเทศกับสังคม


บทที่ 2
บทบาทสารสนเทศกับสังคม
บทนำ
                ปลายศตวรรษที่ 20 โลกเข้าสู่ยุคการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Revolution) มีการนำทรัพยากรสารสนเทศมาใช้งานอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินงาน ทุกองค์กรนำกลไกการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ นำเสนอข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบเพื่อควบคุมการปฏิบัติงาน มีการติดต่อสื่อสารและใช้คอมพิวเตอร์ในการตัดสินใจ รวมถึงประมวลผลด้านต่างๆ
                ในช่วงศตวรรษที่ 21 แนวโน้มองค์กรต่างๆเริ่มมีการปรับฐานการลงทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ทั่วโลกได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างฐานความรู้ในสังคมท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์
                ในปัจจุบันนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และการสื่อสารได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีขนาดเล็กลง หรือที่เรียกว่า “นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)” ทำให้มีการสื่อสารข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์เป็นไปอย่างฉับพลันผ่านทางด่วนสารสนเทศ (Information Superhighway)
               
เทคโนโลยีสารสนเทศกับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน
                ปัจจุบันนั้นสารสนเทศได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ห้า มนุษย์เราขาดเสียมิได้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสารสนเทศที่จำเป็น ในการประกอบธุรกิจ ในการค้าขาย การผลิตสินค้า และบริการ หรือการให้บริการสังคม การจัดการจัดทรัพยากรของชาติ การบริหารและการปกครอง
                เทคโนโลยีสารสนเทศ คือ เทคโนโลยีคู่โลกในต้นศตวรรษที่ 21 และเป็นแรงกระตุ้นและเป็นปัจจัยรองรับ ขบวนการโลกาภิวัตน์ ที่กำลังผนวกสังคมเศรษฐกิจไทยเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคมโลก
                เทคโนโลยีสารสนเทศ คือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา วิเคราะห์ ประมวล และจัดการกับข่าวสารข้อมูลจำนวนมหาศาล จึงขาดเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เสียมิได้ ส่วนการแสวงหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทันเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีประสิทธิภาพ ก็จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี โทรคมนาคม  และท้ายสุดสารสนเทศที่มี จะก่อให้เกิดประโยชน์จากการบริโภค อย่างกว้างขวางตามแต่จะต้องการและอย่างประหยัดที่สุด ก็ต้องอาศัยทั้งสองเทคโนโลยีข้างต้นในการจัดการและการสื่อหรือขนย้ายจากแหล่งข้อมูลสารสนเทศ สู่ผู้บริโภคในที่สุด
                นอกจากการเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ทำลายธรรมชาติหรือสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว คุณสมบัติโดดเด่นอื่นๆที่ทำให้มันกลายเป็นเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์สำคัญแห่งยุคปัจจุบันและในอนาคตก็คือ ความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถภาพในเกือบทุกๆกิจกรรม โดย
               
1) การลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย
2) การเพิ่มคุณภาพของงาน                             
3) การสร้างกระบวนการหรือกรรมวิธีใหม่ๆ
4) การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆขึ้น

                ฉะนั้น โอกาสและขอบเขตการนำ เทคโนโลยีนี้มาใช้ จึงมีหลากหลายในเกือบทุกๆกิจกรรมก็ว่าได้ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง การให้บริการสังคม การผลิตทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ รวมถึงการค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศอีกด้วย โดยพอสรุปได้ดังนี้
                ภาคสังคม การบริหารและปกครอง การให้บริการพื้นฐานของรัฐ การบริการสาธารณสุข การบริการการศึกษา การให้บริการข้อมูลและสาระบันเทิง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
                ภาคเศรษฐกิจ การเกษตร การป่าไม้ การประมง การก่อสร้าง การคมนาคมทั้งทาบก น้ำ และอากาศ  การค้าภายในและระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการบริการ ฯลฯ
                การค้าระหว่างประเทศ คือ การอาศัยแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจำนวนมากมายนั่นเอง ตั้งแต่การสืบและสอบถามสินค้าและราคา การเจรจาตกลงราคา การหาวัตถุดิบสำหรับการผลิต การว่าจ้างและรับช่วงผลิต การว่าจ้างขนส่งสินค้า การประกันวินาศภัย การแจ้งหรือการส่งมอบสินค้า และรายละเอียดเที่ยวบินหรือเรือเดินสมุทรที่ขนย้ายสินค้า รวมถึงการดำเนินการทางพิธีการศุลกากร ฯลฯ การแลกเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมาก ระหว่างองค์กรหลากหลายในแต่ละครั้งของการซื้อขาย จึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วด้วยข้อมูลที่แม่นยำ และในอัตราค่าบริการที่ต่ำ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในเชิงแข่งขันระหว่างประเทศ
                ผลประโยชน์ต่างๆจากการประยุกต์ใช้ของเทคโนโลยีดังกล่าว ล้วนเกิดจากคุณสมบัติพิเศษหลายๆประการของเทคโนโลยีกลุ่มนี้ อันสืบเนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มีอัตราสูงและอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีนี้ส่งผลให้
                1) ราคาของฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ รวมทั้งค่าบริการ สำหรับการเก็บ การประมวล และการแลกเปลี่ยนเผยแพร่สารสนเทศมีการลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
                2) ทำให้สามารถนำพาอุปกรณ์ต่างๆทั้งคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมติดตามตัวได้ เนื่องจากได้มีพัฒนาการการย่อส่วนของชิ้นส่วน (miniaturization) และพัฒนาการสื่อสารระบบไร้สาย
                3) ทำให้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารมุ่งเข้าสู่จุดที่ใกล้เคียงกัน (converge) ประเทศอุตสาหกรรมในโลกได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยียุทธศาสตร์กลุ่มนี้ จึงให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีนี้มากกว่าเทคโนโลยีอื่นๆที่จัดเป็นเทคโนโลยียุทธศาสตร์สำคัญอีกหลายกลุ่ม ดังเช่นกลุ่มประเทศ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ได้ศึกษาเปรียบเทียบ ศักยภาพของเทคโนโลยีไฮเทค 5 กลุ่มสำคัญในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุใหม่ เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ในประเด็นผลกระทบสำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่
                1) การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ
                2) การปรับปรุงกระบวนการผลิตภัณฑ์และบริการ
                3) การยอมรับจากสังคม
                4) การนำไปประยุกต์ในภาค/สาขาอื่นๆ
                5) การสร้างงานในทศวรรษปี 1990 ปรากฏว่าเทคโนโลยีสารสนเทศได้รับการยอมรับในศักยภาพสูงสุดในทุกประเด็น

3.เทคโนโลยีสารสนกับการพัฒนาสังคม
                เทคโนโลยีสารสนเทศจัดว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศของทุกประเทศก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีจะยังไม่มีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการค้าในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดให้บริการสังคมพื้นฐานในการบริหารประเทศ และในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
                การลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดศักยภาพในการแข่งขัน จึงย่อมส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจของนานาประเทศ จากผลการศึกษาใน 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีทั้งประเทศที่ถือว่าพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา
                หลายประเทศมีความวิตกว่าเทคโนโลยีนี้จะลดการว่าจ้างงาน และทำให้เกิดปัญหาตกงานอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ชี้ให้เห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีนี้ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและในการสร้างกิจกรรมใหม่ๆจนกล่าวได้ว่าในทางสังคมแล้ว เทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มการจ้างแรงงานโดยรวมมากกว่าจะลดตามที่เข้าใจกัน
                เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนช่วยให้การเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจในอัตราสูง ย่อมส่งผลให้เกิดการสร้างงานที่เพิ่มตามมา ข้อในสหรัฐฯตลอดกว่าศตวรรษที่ผ่านมา พบว่าการจ้างงานมิได้ลดลงจากการใช้เทคโนโลยี อีกทั้งบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตสืบเนื่องจากเทคโนโลยีนี้ ก็ยังจะนำไปสู่การสร้างงานใหม่ๆตามมามากมายอีกด้วย
                เทคโนโลยีสารสนเทศจะมีผลกระทบต่อสังคมมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับมนุษย์จะเลือกใช้มันนอย่างไร ในโลกปัจจุบันแรงผลักดันทางเศรษฐกิจมักจะมีบทบาทสูง ในการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีเป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งในอดีตและปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก ในอนาคตธุรกิจบันเทิงจะเป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่จะทำเงินให้แก่ผู้ประกอบการทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลอย่างสูงกับแนวคิด ความอ่านของผู้คนในสังคม เพราะเป็นวิถีทางหนึ่งที่ผู้ร่วมบันเทิงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากผู้อื่นที่ร่วมอยู่ในวงบันเทิง และยอมรับสถานภาพว่าตนก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ การถ่ายทอดแนวคิดระหว่างบุคคลในสังคมนั้นก็เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าวัฒนธรรมนั่นเอง
                แต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในระยะต่อไปจะเปิดโอกาสให้มีการสื่อข่าวสารจากจุดต่างๆได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่คาดกันไว้ว่า จะมีผลกระทบต่อวัฒนธรรมอีกครั้งหนึ่ง เราอาจจะได้ความหลากหลายกลับคืนมา แต่ความหลากหลายนี้คงจะมีลักษณะแตกต่างจากที่เคยมีอยู่เดิมอย่างแน่นอน
                               
4.สารสนเทศกับบุคคล
                การพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดความต้องการและการใช้สารสนเทศของบุคคลเพิ่มมากขึ้น สารสนเทศมีการใช้สารสนเทศเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในเรื่องตนเองที่เกี่ยวข้องและนำความรู้ความเข้าใจมาตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง

5.สารสนเทศกับสังคม
                5.1 ด้านการศึกษา
                สารสนเทศมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนในทุกระดับการศึกษา สารสนเทศที่ดีมีคุณค่าและทันสมัย จะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้สารสนเทศที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ถูกต้องจากหลายแขนงวิชาพัฒนาให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นมาได้
                5.2 ด้านสังคม
สารสนเทศช่วยพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพส่วนบุคคลให้อยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข อีกทั้งช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต เราใช้สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทั้งการประกอบอาชีพการป้องกันและแก้ไขปัญหาชีวิต สารสนเทศช่วยขยายโลกทัศน์ของผู้ได้รับให้กว้างขวาง สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษยชาติ ช่วยลดความขัดแย้ง ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
                5.3 ด้านเศรษฐกิจ
                สารสนเทศมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจบนฐานความรู้ (Knowledge-based Economy) หน่วยงานหรือผู้ประกอบการธุรกิจให้ความสำคัญกับ “การจัดการความรู้” (Knowledge management)เพื่อรักษาองค์ความรู้ขององค์กรไว้  สารสนเทศช่วยประหยัดเวลาในการผลิต ลดขั้นตอนการลองผิดลองถูก อีกทั้งช่วยให้องค์กรได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้ตามความต้องการของตลาด
                5.4 ด้านวัฒนธรรม
                สารสนเทศช่วยสืบทอกชด ค่านิยม ทัศนคติ ศิลปะ และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อันดีงามของชาติ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ความสามัคคี ความมั่นคงในชาติ

6.บทบาทเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการศึกษา
                ทุกประเทศในโลกปรารถนาจะเห็นคนของตัวเองได้เป็นผู้เรียนรู้อยู่เสมอตลอดชีวิต ความคิดนี้ได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งสู่ความคิดที่ว่า ถ้าช่วยกันทำให้ทุกส่วนของสังคมมีส่วนร่วมสนับสนุน สังคมก็จะเป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้” (Learning Society) เพราะทุกส่วนทุกฝ่ายสามารถเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับความรู้ ความคิดเรื่องสังคมแห่งการเรียนรู้เริ่มเป็นที่กล่าวถึงและยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง
                ในปัจจุบันประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทยได้นำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยคุณลักษณะที่เอื้อต่อการศึกษา ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยในหลายมิติ ดังนี้
                เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตอบสนองนโยบายทางการศึกษาที่เป็น “การศึกษาเพื่อประชาชนทุกคน” (Education for all) อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมทางการศึกษา
                เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา กล่าวคือวัฒนธรรมทางการศึกษาในปัจจุบันเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality) ยังทำให้ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาในวิชาชีพที่ภาคปฏิบัติมีความสำคัญ
                เทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนต่อการฝึกอบรม การประชุมและการติดต่อสื่อสาร เช่น การอบรมทางไกล (Tele-Training) ซึ่งทำให้การฝึกอบรมประหยัดเวลาและงบประมาณ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น